สวัสดีครับ เราคงเคยได้ยินเกี่ยวกับ Design thinking กันมาบ้างแล้ว บริษัทชั้นนำระดับโลกอย่าง Apple หรือ Google ก็ใช้การแก้ปัญหาด้วยวิธีการ Design thinking มาตั้งแต่ไหนแต่ไร แล้วเราจะเอามันมาประยุกต์ใช้กับเด็กนักเรียนหรือบุตรหลานของเราได้ยังไงกันนะ
โดยเริ่มแรกขอเกริ่นก่อนเลยว่า ในปัจจุบัน การศึกษาของเรานั่นถูกออกแบบมาให้เด็กเรียนเพื่อไปสอบ ซึ่งการสอบนั้นถือว่าเป็นตัววัดผลอย่างหนึ่งในการเรียนว่าสิ่งที่เราเรียนมาเราเข้าใจถูกหรือผิด แต่ว่าในอนาคต โลกอาจจะไม่ได้มีกำหนดว่าอะไรถูกหรือผิดเสมอไป หากเราต้องการเรียนรู้ตามตำราก็สามารถเปิดกูเกิ้ลอ่านได้ในเวลาแปปเดียว จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการส่งเสริมให้เด็กรุ่นใหม่มีความเป็นนักสร้างสรรค์อยู่ในตัว ใครก็ตามที่มีทักษะแก้ปัญหาและปรับตัวเข้ากับโลกสมัยใหม่ได้ไวกว่า จะถือว่าเป็นทักษะที่ได้เปรียบมากกว่าความรู้ในตำราอย่างเป็นที่แน่นอน
Design thinking คืออะไร?
Design thinking นั้นคือกระบวนการความคิดในการแก้ปัญหาต่างๆ โดยถ้าหากจะย่อยให้ง่ายที่สุดก็คงจะเป็นเหมือน เทคนิคการแก้ปัญหาแบบเน้นวิธีการที่เราต้องเข้าใจปัญหานั้นๆโดยเข้าถึงตัวของคนที่เกิดปัญหาจริงๆ แล้วนำกลับมาคิดว่าปัญหาที่เค้าพบเจอนั้นต้นตอมาจากอะไร แล้วคิดไอเดียที่หลากหลายเพื่อแก้ปัญหานั้นๆ ก่อนจะลองเอาไปทดสอบจริงๆเพื่อพัฒนาและหาวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดนั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น หากเราลองให้เด็กนักเรียนหรือลูกหลานออกแบบรถยนต์มาหนึ่งคัน แน่นอนว่าไอเดียอาจจะมีหลากหลายเช่นรถสปอร์ต รถสีแดง รถกล่อง แต่ถ้าหากเราลองเปลี่ยนโจทย์เป็นให้ให้ออกแบบวิธีการเดินทางจาก จุด ก. ไป จุด ข. รับรองว่าไอเดียนั้นจะหลากหลายมากกว่าที่เราคิดไว้แน่นอน แสดงให้เห็นว่าเมื่อเราเปิดกว้างเด็กให้เด็กๆเสนอวิธีการแก้ปัญหา เขาเหล่านั้นก็จะได้คิดมากกว่าการที่ให้แค่เด็กๆแก้ไขจากอะไรที่มีอยู่แล้วนั่นเอง
เด็กๆจะรู้ Design thinking ไปทำไมกันนะ?
จริงอยู่ที่ Design thinking นั้นแพร่หลายมากในหมวดธุรกิจและ Start-up ต่างๆ แล้วมันจำเป็นสำหรับเด็กๆที่ต้องมาเรียนรู้เรื่องพวกนี้จริงไหม?
ขอตอบไว้ตรงนี้เลยว่าอนาคตนั้นเปลี่ยนแปลงไปไวมากและยังมีปัญหาในโลกนี้อีกหลายๆอย่างที่ยังไม่ถูกค้นพบ ในเมื่อเราไม่สามารถรู้อนาคตได้ มันก็ย่อมดีกว่าไม่ใช่หรอที่จะเตรียมตัวเด็กๆให้พร้อมรับมือกับสิ่งที่ไม่อาจคาดเดาได้ แถมการเรียนรู้ทักษะ Design thinking นั้นยังสามารถส่งเสริมให้เด็กๆมีทักษะเพิ่มขึ้นได้อีก เช่น
- เพิ่มความมั่นใจพร้อมรับกับความท้าทายใหม่ๆเสมอ
- เรียนรู้ที่จะยอมรับความผิดพลาดและพัฒนาตัวเอง
- ทักษะที่จะมองเห็นปัญหาและวิธีการแก้ปัญหาในแบบสร้างสรรค์
- แนวความคิดที่ว่าไม่มีปัญหาไหนใหญ่เกินแก้
- เข้าใจถึงการทำงานร่วมกันและรับฟังความเห็นผู้อื่น
แล้วจะสอน Design thinking ให้เด็กๆยังไงดีหล่ะ?
แน่นอนว่าเด็กแต่ละคนก็มีความคิดสร้างสรรค์ที่แตกต่างและไม่เท่ากัน เราควรจะสอนเด็กๆเหล่านั้นยังไงดี
LEGO ตัวต่อเลโก้นั้นอาจจะปิดกั้นความคิดเมื่อเราต้องต่อตามแบบคู่มือที่เราซื้อมา แต่ถ้าเราลองใช้แบบตัวต่อธรรมดาที่ไม่ได้กำหนดรูปแบบมาให้หล่ะ ลองกำหนดโจทย์ง่ายๆให้เด็กๆได้ทำเช่น สร้างเก้าอี้ให้คุณพ่อทำงานที่บ้าน เท่านี้เราก็จะได้สอนให้เด็กๆไปถามคุณพ่อว่าปัญหาที่แท้จริงของเก้าอี้ทำงานคืออะไร (Empathy) เมื่อเขารู้ถึงปัญหาจริงๆแล้ว (Define) ค่อยให้เขากลับมาคิดว่าจะสามารถแก้ปัญหาเหล่านั้นยังไงดี (Ideate) เมื่อได้ลองสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาแล้ว (Prototype) ก็ค่อยกลับไปนำเสนอเพื่อถามถึงข้อเสนอแนะและนำกลับมาปรับปรุง (Test)
หรือถ้าหากไม่มีเลโก้ก็สามารถออกแบบโจทย์ง่ายๆเช่นสร้างปราสาททรายเมื่อไปทะเล หรือถ้าหากไม่มีก็ใช้แค่กระดาษกับดินสอสีก็ยังได้
หวังว่าถึงจุดนี้แล้ว พ่อแม่ผู้ปกครอง คุณหรือ หรือแม้แต่เด็กๆเองที่ได้เข้ามาอ่าน จะได้เห็นความสำคัญของ Design thinking และนำกลับไปใช้ในชีวิตจริงได้ไม่มาก็น้อย Class-dd ก็ขอขอบคุณทุกคนที่อ่านกันมาถึงจุดนี้ และอยากขอฝากเพจ Facebook : class-dd ให้ทุกคนได้ติดตาม เพื่อที่จะได้ไม่พลาดบทความเพื่อการศึกษาใหม่ๆที่เราจะมาอัพเดทให้อ่านกันทุกอาทิตย์ สำหรับอาทิตย์นี้ก็ขอขอบคุณมากครับ แล้วเจอกันใหม่ครับ